วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

9)  กฎหมายมหาชน

กฎหมายมหาชน

ความหมายของกฎหมายมหาชน

1. กฎหมายมหาชน (Public Law) หมายถึงกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองราษฎรหรือมีฐานะเหนือราษฎร 

2. คำว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร” หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย 

3. คำว่า “ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร” หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีซึ่งฝ่ายหนึ่งมีฐานะสูงกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจึงบังคับเอาได้ หรือใช้อำนาจได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง 

4. หลักเกณฑ์การพิจารณาว่า กฎหมายใดเป็นกฎหมายมหาชน มีดังนี้คือ
  1. พิจารณาว่ากฎหมายนั้นกล่าวถึงกิจการของใคร (ถ้าเป็นกิจการของรัฐ คือเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม ก็เป็นกฎหมายมหาชน)
  2. พิจารณาว่ากฎหมายนั้นให้ใครเป็นประธานแห่งสิทธิ หรือเป็นผู้ทรงอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง (ถ้าองค์การของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ทรงอำนาจ ก็เป็นกฎหมายมหาชน)
  3. พิจารณาว่ากฎหมายนั้นเคร่งครัดหรือไม่ (ถ้าเคร่งครัดทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ ก็เป็นกฎหมายมหาชน)
 
5. ข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน มีดังนี้
  1. แตกต่างในด้านวัตถุประสงค์ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนต้องการวางระเบียบบังคับเกี่ยวพันระหว่างรัฐกับเอกชน ส่วนกฎหมายเอกชนจะเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับเอกชน
  2. แตกต่างในด้านฐานะ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนยอมรับว่ารัฐมีฐานะเหนือกว่าเอกชน ส่วนกฎหมายเอกชน ยอมรับว่าเอกชนทั้งหลายมีฐานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน
  3. แตกต่างในด้านรูปแบบ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนมีรูปแบบที่เคร่งครัด ส่วนกฎหมายเอกชนมีรูปแบบที่ยืดหยุ่น
6. กฎหมายสังคม (Social Legislation) เป็นชื่อเรียกกลุ่มกฎหมายอีกชื่อหนึ่ง ได้แก่ กฎหมายที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสังคม คือพัฒนาจากนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจนกลายเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องแทรกเข้าไปจัดระเบียบความสัมพันธ์และอำนาจต่อรอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ตัวอย่างเช่น
  • กฎหมายแรงงาน ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายจ้างแรงงาน
  • กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมาซื้อขาย กฎหมายละเมิด
  • กฎหมายปฏิรูปที่ดิน กฎหมายจัดรูปที่ดิน และกฎหมายค่าเช่านา ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายทรัพย์สิน และกฎหมายที่ดิน
  • กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายกู้ยืม
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น