วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

7) อัยการสูงสุด

อัยการสูงสุด (อังกฤษ: Attorney General) คือ ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพนักงานอัยการในสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการนั้นมีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน หรือนักกฎหมายให้แก่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินคดีอาญาในนามของรัฐ และสามารถมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่พนักงานอัยการผู้ใต้บังคับบัญชาได้ อัยการสูงสุดเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ที่ใช้อำนาจจตุลาการ ดังนั้นอัยการสูงสุดจึงมีความอิสระ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร [1] รับพิจารณาสั่งคดีขึ้นสู่ศาลและว่าความ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐตามหลักนิติรัฐ

ในไทยคือตำแหน่ง “อธิบดีกรมอัยการ” (เดิม) เมื่อครั้งสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกรมอัยการก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2436 จนวันที่ 28 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จึงได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 47 และฉบับที่ 49 แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นหน่วยงานราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงใด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินคดี ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น มี ศ.ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ อธิบดีกรมอัยการขณะนั้นเป็นอัยการสูงสุดคนแรก และ นายโอภาส อรุณินท์ เป็นอัยการสูงสุดคนต่อมา
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 ระบุให้ตำแหน่งอัยการสูงสุดเป็น "ประธาน" คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) โดยตำแหน่ง ส่วนประธาน ก.อ. ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และข้อ 5 ได้กำหนดให้ประธาน ก.อ. มาจากการเลือกตั้งโดยข้าราชการอัยการโดยตรงก็เพื่อให้การบริหารงานบุคคลข้าราชการอัยการเป็นอิสระและปลอดจากการเมืองอย่างแท้จริง โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้รับบำนาญ ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการอัยการมาแล้ว ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีกรมอัยการ หรือ รองอัยการสูงสุด หรือผู้ทรง คุณวุฒิในทางกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้รับบำนาญ และเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบ เท่าขึ้นไป ทั้งนี้ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะเวลา สิบปีที่ผ่านมาและไม่เป็นข้าราชการการเมืองหรือสมาชิกรัฐสภาหรือ ทนายความ ซึ่ง ประธาน ก.อ. คนปัจจุบันคือ นายตระกูล วินิจนัยภาค
 

รายนามอัยการสูงสุดของไทย

รายนามอัยการสูงสุดของไทย[2]
  1. ศาสตราจารย์ ดร.โกเมน ภัทรภิรมย์ (1 มี.ค. 2534 - 1 ต.ค. 2536)
  2. นายโอภาส อรุณินท์ (1 ต.ค. 2536 - 30 ก.ย. 2537)
  3. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร (1 ต.ค. 2537 - 30 ก.ย. 2540)
  4. ศาสตราจารย์ สุชาติ ไตรประสิทธิ์ (1 ต.ค. 2540 - 30 ก.ย. 2544)
  5. นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ ( 1 ต.ค. 2544 - 30 ก.ย. 2546)
  6. ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม (1 ต.ค. 2546 - 30 ก.ย. 2547)
  7. ศาสตราจารย์พิเศษ คัมภีร์ แก้วเจริญ (1 ต.ค. 2547 - 30 ก.ย. 2548)
  8. นายพชร ยุติธรรมดำรง (1 ต.ค. 2548 - 30 ก.ย. 2550)[3]
  9. ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ (1 ต.ค. 2550 - 2552)
  10. ศาสตราจารย์พิเศษ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ (1 ต.ค. 2552 - 30 ก.ย. 2556)
  11. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง (1 ต.ค. 2556 - 26 มิ.ย.2557)
  12. นายตระกูล วินิจนัยภาค (27 มิ.ย.2557 - )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น