วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

2.ศาลปกครอง


 
 
 
                 “ศาลปกครอง หมายถึง ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะ อันไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลอื่น”[1]
การจัดตั้งศาลปกครองขึ้นในประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการและพัฒนามาเป็นเวลานานแล้ว โดยสามารถแบ่งช่วงสำคัญในการวิวัฒนาการออกเป็นสี่ช่วง ดังนี้ คือ
ช่วงแรก นับตั้งแต่ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติเคาร์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดินขึ้น เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน การร่างกฎหมายและเป็นผู้พิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานเคาร์ซิลออฟสเตด หรือเรียกว่า เปรสสิเด้น (President)[2] ดังนั้น อำนาจหน้าที่ส่วนหนึ่งของสถาบันนี้ ความจริงแล้วก็คือภารกิจของศาลปกครอง
ช่วงที่สอง ภายหลังปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลในขณะนั้น โดยดำริของนายปรีดี พนมยงค์ มีนโยบายที่จะจัดตั้งสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลและเป็นองค์กรชี้ขาดคดีปกครอง จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ตามกฎหมายดังกล่าว การดำเนินการในส่วนที่จะให้มีการพิจารณาคดีปกครอง จะต้องมีการตรากฎหมาย เพื่อกำหนดประเภทคดีปกครองและวิธีพิจารณาคดีประกอบขึ้นอีกครั้งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นได้มีความพยายามในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผล จนต้องมีการตราพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 แต่คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ที่จัดตั้งขึ้นนั้น ไม่ได้มีการจัดองค์กรและไม่ได้มีวิธีพิจารณาคดีอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ช่วงที่สาม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยรวมกรรมการร่างกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 และกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 เข้าด้วยกัน โดยตราเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ควบคู่กับคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทในคดีปกครอง
ช่วงที่สี่ เป็นช่วงที่มีการพัฒนาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้มีการบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการบัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ แต่การจัดตั้งศาลปกครองก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลบังคับใช้ โดยมีบทบัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ขึ้นและได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับศาลปกครองไว้ด้วย และในที่สุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้เปิดทำการตามกฎหมาย อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของศาลปกครองไทยในปัจจุบัน[3]


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น